ข้อบังคับของสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสัตหีบ - สิงห์สมุทร ๒๕๕๙

หมวดที่ ๑ ความทั่วไป

ข้อ ๑ สมาคมนี้มีชื่อว่าสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสัตหีบ - สิงห์สมุทร เรียกและเขียนชื่อย่อภาษาไทยว่า “สศส” มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Sattahip-Singsamut School Alumni Association เขียนย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า

ข้อ ๒ เครื่องหมายของสมาคม

เครื่องหมายของสมาคมประกอบด้วย
๑. ตัวอักษรภาษาอังกฤษ S สีฟ้า หมายถึง ศิษย์เก่าโรงเรียนสัตหีบ - สิงห์สมุทรที่จบการศึกษาไปแล้ว
๒. ก้านสมอสีเขียว หมายถึง ถิ่นที่อยู่และที่ตั้งของโรงเรียนนั่นคืออำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี อันเป็นถิ่นที่รัก
๓. ส่วนยอดบนสมอสีเหลือง หมายถึง ศิษย์เก่าที่ได้รวมตัวกันเพื่อความเป็นหนึ่งเดียว เหนียวแน่น เป็นปึกแผ่น
๔. ส่วนยอดสุดสมอสีส้ม หมายถึง ศิษย์เก่าที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้กับโรงเรียน
๕. เพลิงสีม่วง หมายถึง ความเจิดจรัสของศิษย์เก่าที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน
๖. ประกายไฟสีแดง หมายถึง ความเจริญก้าวหน้าของศิษย์เก่าที่สร้างสรรค์สิ่งดีงามให้กับสังคมไทยทั้ง ๖ รวมกันเป็นเครื่องหมายของสมาคม ซึ่งหมายถึง ศิษย์เก่าโรงเรียนสัตหีบ – สิงห์สมุทร และหมายถึง สีประจำรุ่นของโรงเรียนในปัจจุบัน


ข้อ ๓ สำนักงานใหญ่ของสมาคมตั้งอยู่ ที่ ๒๕๐๘ หมู่ ๑ ถ.สุขุมวิท ต.สัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ๒๐๑๘๐

ข้อ ๔ วัตถุประสงค์ของสมาคม

    ๔.๑ ส่งเสริมสามัคคีธรรม ผดุงเกียรติและสงเคราะห์ช่วยเหลือระหว่างมวลสมาชิก
    ๔.๒ ส่งเสริมความสามัคคีระหว่างศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน
    ๔.๓ ส่งเสริมโรงเรียนสัตหีบ - สิงห์สมุทรให้เจริญก้าวหน้า
    ๔.๔ ส่งเสริมกีฬาและนันทนาการ ของมวลสมาชิก
    ๔.๕ บำเพ็ญสาธารณประโยชน์
    ๔.๖ ส่งเสริมการศึกษาและเผยแพร่วิทยาการตามวัตถุประสงค์ของโรงเรียน
    ๔.๗ ส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสมาชิก โรงเรียน หรือ ชุมชน
    ๔.๘ ส่งเสริมสวัสดิการของสมาชิก ข้าราชการครูและบุคลากรของโรงเรียนสัตหีบ - สิงห์สมุทร
    ๔.๙ ส่งเสริมความสามัคคี และร่วมมือกับประชาชนในอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
    ๔.๑๐ ร่วมมือกับองค์การกุศลและองค์การสาธารณประโยชน์เพื่อสาธารณประโยชน์
    ๔.๑๑ สมาคมนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
    ๔.๑๒ สมาคมไม่จัดตั้งโต๊ะสนุ๊กเกอร์และโต๊ะบิลเลียด รวมทั้งการพนันทุกประเภทภายในสมาคม


หมวดที่ ๒ สมาชิก


ข้อ ๕ สมาชิกของสมาคมมี ๓ ประเภท คือ

    ๕.๑ สมาชิกสามัญ ได้แก่
๕.๑.๑ ผู้เคยขึ้นทะเบียนเป็นนักเรียนโรงเรียนสัตหีบและพ้นสภาพการเป็นนักเรียนตามข้อบังคับของโรงเรียนสัตหีบไปแล้วก่อนวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ (ก่อนโอนย้ายโรงเรียนจากกองทัพเรือให้กรมสามัญศึกษา)
๕.๑.๒ ผู้เคยขึ้นทะเบียนเป็นนักเรียนโรงเรียนสิงห์สมุทรและพ้นสภาพการเป็นนักเรียนตาม
๕.๑.๓ ผู้เป็นหรือเคยเป็นครูหรือผู้บริหารในโรงเรียนสิงห์สมุทรและโรงเรียนสัตหีบก่อนวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๒๓ (ก่อนโอนย้ายโรงเรียนจากกองทัพเรือให้กรมสามัญศึกษา) ข้อบังคับของโรงเรียนสิงห์สมุทรไปแล้ว
    ๕.๒ สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลผู้ทรงเกียรติ หรือทรงคุณวุฒิ หรือผู้มีอุปการคุณแก่สมาคมซึ่ง หารลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม
    ๕.๓ สมาชิกสมทบ ได้แก่ นักเรียนปัจจุบันของโรงเรียนสิงห์สมุทร

ข้อ ๖ สมาชิกจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้

    ๖.๑ เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว
    ๖.๒ เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
    ๖.๓ ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ
    ๖.๔ ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถหรือเสมือน ไร้ความสามารถ หรือต้องโทษจำคุก ยกเว้นความผิดฐานประมาท หรือลหุโทษการต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด ในกรณีดังกล่าวจะต้องเป็นในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือในระหว่างที่เป็นสมาชิกของสมาคมเท่านั้น

ข้อ ๗ ค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคม

    ๗.๑ สมาชิกสามัญ ไม่เสียค่าลงทะเบียนครั้งแรก ค่าบำรุงสมาคมเป็นรายเดือนๆ ละ ๐ บาท หรือค่าบำรุงเป็นรายปีๆ ละ ๐ บาท
    ๗.๒ สมาชิกกิตติมศักดิ์ มิต้องเสียค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ข้อ ๘ สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่หนังสือตอบรับคำเชิญของผู้ที่คณะกรรมการบริหารได้พิจารณาลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมได้มาถึงยังสมาคม

ข้อ ๙ สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังต่อไปนี้

    ๙.๑ เสียชีวิต
    ๙.๒ ลาออก
โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการบริหารได้พิจารณาอนุมัติ
    ๙.๓ ขาดคุณสมบัติสมาชิก
    ๙.๔ ที่ประชุมใหญ่ของสมาคม
หรือคณะกรรมการบริหารได้พิจารณาลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียนเพราะสมาชิกผู้นั้นได้ประพฤตินำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม

ข้อ ๑๐ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

    ๑๐.๑ สมาชิกมีสิทธิเข้าใช้สถานที่ สโมสร สนามกีฬา และอื่นๆ ของสมาคมตามระเบียบข้อบังคับที่กำหนดไว้โดยเท่าเทียมกัน
    ๑๐.๒ สมาชิกอาจแสดงความคิดเห็นเป็นหนังสือเกี่ยวด้วยกิจการของสมาคมส่งไปยังคณะกรรมการบริหารเมื่อไม่ได้รับความเห็นชอบหรือไม่พอใจในผลแห่งการพิจารณา จะเสนอต่อที่ประชุมใหญ่คราวต่อไปก็ได้ แต่ต้องยื่นความประสงค์เป็นหนังสือต่อเลขาธิการก่อนการประชุมไม่น้อยกว่า ๑๐ วัน
    ๑๐.๓ สมาชิกมีสิทธิได้รับสวัสดิการต่างๆ ที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
    ๑๐.๔ สมาชิกมีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญของสมาคม และประชุมใหญ่วิสามัญทั้งมีสิทธิขอรับทราบ หรือตรวจดูกิจการ บัญชีการเงิน การทะเบียนของสมาคมได้แต่ต้องยื่นความจำนงเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการบริหารล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๑๐ วัน
    ๑๐.๕ สมาชิกสามัญมีสิทธิในการเลือกตั้ง หรือได้รับการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหารสมาคมและมีสิทธิออกเสียงลงมติต่างๆในที่ประชุมได้คนละ ๑ คะแนนเสียง
    ๑๐.๖ สมาชิกมีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการบริหารเพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สินของสมาคม
    ๑๐.๗ สมาชิกมีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อยหนึ่งในสามของสมาชิกสามัญทั้งหมดร้องขอต่อคณะกรรมการบริหารให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้
    ๑๐.๘ สมาชิกมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติ และข้อบังคับของสมาคมโดยเคร่งครัด
    ๑๐.๙ สมาชิกมีหน้าที่ประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคม
    ๑๐.๑๐ สมาชิกมีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของสมาคม
    ๑๐.๑๑ สมาชิกมีหน้าที่ส่งเสริมและร่วมกิจกรรมที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
    ๑๐.๑๒ สมาชิกมีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

หมวดที่ ๓ การดำเนินการสมาคม


ข้อ ๑๑ คณะกรรมการบริหารสมาคมมี๒ประเภทดังต่อไปนี้

    ๑๑.๑ คณะกรรมการบริหารสมาคมประเภทตัวแทนรุ่นมาจากการคัดเลือกตัวแทนภายในรุ่นที่จบการศึกษาตามข้อ ๕.๑.๑ และ ๕.๑.๒ รุ่นละ ๓ คน และส่งตัวแทนที่ได้รับการคัดเลือกในแต่ละรุ่นมาเป็นคณะกรรมการบริหารสมาคมประเภทตัวแทนรุ่นของตนเองตามที่จบการศึกษาในระดับชั้น ม.๖ โดยส่งชื่อรายชื่อตัวแทนรุ่นเป็นจดหมายมาที่นายทะเบียนของสมาคม และให้มีผู้รับรองในรุ่นตัวเองจำนวน ๕คนในจดหมายด้วยส่งให้นายทะเบียนก่อนจบการศึกษาของโรงเรียนสิงห์สมุทรในแต่ละปี คณะกรรมการบริหารสมาคมประเภทตัวแทนรุ่น มีหน้าที่สำคัญในการเข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นในการดำเนินการตรวจสอบการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารสมาคมและออกเสียงรับรองนายกสมาคมในการประชุมใหญ่ของสมาคม หากตัวแทนรุ่นใด ขาดจากสมาชิกภาพตามข้อ ๙ ให้แต่ละรุ่นเลือกตัวแทนขึ้นมาได้ใหม่และทำจดหมายมาที่นายทะเบียนของสมาคมและให้มีผู้รับรองในรุ่นตัวเองจำนวน ๕ คนในจดหมายด้วยจึงจะถือได้ว่าเป็นตัวแทนรุ่นโดยสมบูรณ์
    ๑๑.๒ คณะกรรมการบริหารสมาคม ประกอบด้วยนายกสมาคมและกรรมการบริหารของสมาคม

ข้อ ๑๒ ที่มาและขั้นตอนการแต่งตั้งนายกสมาคมมีดังต่อไปนี้

    ๑๒.๑ ให้ตั้งคณะกรรมการสรรหานายกสมาคมซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนของนายกสมาคมฯ คนเก่า๒ท่านผู้อำนวยการโรงเรียนสิงห์สมุทรหรือตัวแทน ๑ ท่านให้แล้วเสร็จภายใน ๙๐วันก่อนที่นายกสมาคมคนเก่าจะหมดวาระโดยให้นายกสมาคมคนเก่าที่กำลังจะหมดวาระเป็นผู้ดำเนินการและเป็นประธานคณะกรรมการสรรหานายกสมาคมพร้อมทั้งดำเนินการตามข้อ ๑๒ นี้จนกว่าจะแล้วเสร็จ
    ๑๒.๒ ให้คณะกรรมการสรรหานายกสมาคมตาม ข้อ ๑๒ (๑) ทำหน้าที่คัดเลือกกลั่นกรองรายชื่อผู้ที่เหมาะสมเป็นนายกสมาคม ๑ ท่านเสนอให้คณะกรรมการบริหารสมาคมประเภทตัวแทนรุ่นรับรองในการประชุมใหญ่ของสมาคมและให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๖๐ วันก่อนที่นายกสมาคมคนเก่าจะหมดวาระ
    ๑๒.๓ ให้คณะกรรมการบริหารสรรหานายกสมาคมมีอำนาจเรียกคณะกรรมการสมาคมประเภทตัวแทนรุ่นประชุมใหญ่เพื่อลงมติรับรองนายกสมาคมให้เรียบร้อยภายใน ๒๐ วันก่อนที่นายกสมาคมคนเก่าหมดจะวาระเมื่อคณะกรรมการบริหารสมาคมประเภทตัวแทนรุ่นรับรองแล้วให้ถือว่าหมดหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหานายกสมาคม
    ๑๒.๔ หากมีอุปสรรคอันใดที่ไม่สามารถดำเนินได้ตามข้อนี้ให้อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการสรรหานายกสมาคม

ข้อ ๑๓ นายกสมาคมให้ดำรงตำแหน่งคราวละ๒ปีแต่ไม่เกิน๒วาระให้นายกสมาคมแต่งตั้งกรรมการบริหารสมาคมจากสมาชิกสามัญหรือคณะกรรมการบริหารสมาคมประเภทตัวแทนรุ่นอีกไม่น้อยกว่า ๑๐ คนและไม่เกิน ๓๐ คนให้ดำรงตำแหน่งอุปนายกเลขาธิการเหรัญญิกนายทะเบียนประชาสัมพันธ์และตำแหน่งที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่นตามแต่จะเห็นสมควรถ้าตำแหน่งนายกสมาคมว่างลงให้อุปนายกรักษาการแทนถ้ากรรมการว่างลงก่อนถึงกำหนดนายกสมาคมอาจแต่งตั้งสมาชิกสามัญเข้าดำรงตำแหน่งแทนและให้กรรมการบริหารผู้ได้รับการแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเพียงระยะเวลาของผู้ที่ตนแทนคณะกรรมการบริหารที่ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับระยะเวลาดำรงตำแหน่งของนายกสมาคมนายกสมาคมซึ่งได้รับการรับรองและกรรมการบริหารจะต้องรับมอบงานจากนายกสมาคมคนเก่าและกรรมการบริหารภายใน๑เดือนนับแต่วันได้รับการรับรองทั้งนี้นายกสมาคมคนเก่าและกรรมการบริหารจะต้องส่งมอบงานเมื่อนายกสมาคมคนใหม่และกรรมการบริหารแสดงความจำนงจะเข้ารับงาน

ข้อ ๑๔ คณะกรรมการบริหารมีอำนาจแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษาจากสมาชิกสามัญอันสมควรแก่ตำแหน่งที่ปรึกษาของสมาคมตามจำนวนที่เห็นสมควรการลงมติแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษาของสมาคมต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของจำนวนกรรมการบริหารกรรมการที่ปรึกษาอยู่ในตำแหน่งเท่ากับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการบริหารที่แต่งตั้งตนกรรมการที่ปรึกษาไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในการประชุมคณะกรรมการบริหาร

ข้อ ๑๕ คณะกรรมการบริหารมีอำนาจและหน้าที่ในการดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ของสมาคมและภายใต้ข้อบังคับนี้ให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

    ๑๕.๑ กำหนดนโยบายของสมาคมและดำเนินงานตามนโยบายนั้น
    ๑๕.๒ ควบคุมการเงินและทรัพย์สินต่าง ๆ ของสมาคม
    ๑๕.๓ ดำเนินการให้เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารและวัตถุประสงค์ของข้อบังคับนี้
    ๑๕.๔ ตราระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของสมาคม
    ๑๕.๕ แต่งตั้งหรือถอดถอนคณะอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่งหรือหลายคณะเพื่อดำเนินการเฉพาะอย่างของสมาคมภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการบริหาร
    ๑๕.๖ เชิญผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการบริหาร
    ๑๕.๗ การอื่นใดที่จำเป็นในการดำเนินกิจการของสมาคมตามวัตถุประสงค์

ข้อ ๑๖ คณะกรรมการบริหารอาจสั่งตั้งสาขาสมาคมหรืออนุกรรมการหรือผู้แทนของสมาคมเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสมาคม

ข้อ ๑๗ เมื่อนายกสมาคมตั้งกรรมการบริหารแล้วให้จดทะเบียนภายในกำหนด ๑๔ วันนับแต่วันที่แต่งตั้ง

ข้อ ๑๘ นายกสมาคมจะให้กรรมการบริหารผู้ใดพ้นจากตำแหน่งที่แต่งตั้งและตั้งกรรมการบริหารอื่นแทนก็ได้

ข้อ ๑๙ กรรมการบริหารออกจากตำแหน่งโดยลาออกหรือขาดจากสมาชิกภาพต้องรักษาการอยู่จนกว่าจะมีกรรมการบริหารใหม่มารับหน้าที่และให้กรรมการบริหารใหม่เข้ารับงานภายใน ๑ เดือนนับตั้งแต่มีการแต่งตั้ง

ข้อ ๒๐ นายกสมาคมมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมกิจการของสมาคมให้ดำเนินไปตามระเบียบข้อบังคับและมติของคณะกรรมการบริหารและมีอำนาจแต่งตั้งบังคับบัญชาลงโทษถอดถอนพนักงานของสมาคม

ข้อ ๒๑ นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุมทุกประเภทถ้านายกสมาคมไม่อยู่ให้อุปนายกสมาคมเป็นประธานแทนในกรณีที่นายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ให้เลขาธิการสมาคมเป็นประธานแทน

ข้อ ๒๒ เลขาธิการของสมาคมหรือผู้ช่วยเลขาธิการสมาคมเป็นเลขานุการในที่ประชุมทุกประเภทมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดการประชุมจัดระเบียบวาระการประชุมบันทึกรายงานการประชุมเก็บไว้เป็นหลักฐานและงานอื่นใดซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของกรรมการบริหารตำแหน่งต่างๆตามที่นายกสมาคมมอบหมายหากเลขาธิการสมาคมหรือผู้ช่วยเลขาธิการสมาคมไม่อยู่ให้นายกสมาคมตั้งกรรมการบริหารอื่นปฏิบัติหน้าที่แทน

ข้อ ๒๓ ให้นายกสมาคมเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารอย่างน้อย ๑ ครั้งต่อปี

ข้อ ๒๔ การประชุมคณะกรรมการบริหารต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่า๑ใน๓ของจำนวนคณะกรรมการบริหารจึงจะถือเป็นองค์ประชุม

ข้อ ๒๕ นอกจากจะได้บังคับไว้เป็นอย่างอื่นมติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารให้ถือตามคะแนนเสียงข้างมากถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานมีคะแนนเสียงอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาดการลงคะแนนเสียงในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนั้นให้ใช้วิธียกมือแต่ถ้ากรรมการบริหารตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไปร้องขอให้ลงคะแนนลับก็ให้ประธานถามที่ประชุมและให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารลงมติว่าจะมีการลงคะแนนเสียงลับหรือไม่

ข้อ ๒๖ กรรมการบริหาร๑ใน๓ของคณะกรรมการบริหารมีสิทธิขอให้เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารเพื่อพิจารณาเรื่องสำคัญและรีบด่วนเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของสมาคมให้นายกสมาคมเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารตามคำขอโดยนัดหมายให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๓ วัน

ข้อ ๒๗ กรรมการอาจจะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่เป็นการออกแบบตามวาระด้วยเหตุผลต่อไปนี้ คือ

    ๒๗.๑ เสียชีวิต
    ๒๗.๒ ลาออก
    ๒๗.๓ ขาดจากสมาชิกภาพตามข้อบังคับและตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้
    ๒๗.๔ ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกจากตำแหน่ง
    ๒๗.๕ เป็นผู้มีความประพฤติและปฏิบัติตนเป็นที่เสื่อมเสียและคณะกรรมการบริหารสมาคมมีมติให้ออกโดยมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของคณะกรรมการบริหารของสมาคม

ข้อ ๒๘ กรรมการบริหารที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการบริหารมีมติให้ออก

หมวดที่ ๔ การประชุมใหญ่


ข้อ ๒๙ คณะกรรมการบริหารต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญปีละครั้งภายใน ๑๒๐ วันนับแต่วันที่ครบรอบปีการบัญชี

ข้อ ๓๐ คณะกรรมการบริหารต้องแจ้งวันนัดประชุมให้สมาชิกทราบก่อนหน้าการประชุมไม่น้อยกว่า ๑๕ วันโดยวิธีการต่อไปนี้อย่างน้อย ๑ วิธี

    ๓๐.๑ ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่า ๒ ครั้ง
    ๓๐.๒ ประกาศทางวิทยุกระจายเสียงไม่น้อยกว่า ๓ ครั้ง
    ๓๐.๓ ส่งหนังสือถึงสมาชิกทุกคนโดยทางไปรษณีย์
    ๓๐.๔ วิธีอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการเห็นชอบ

ข้อ ๓๑ ให้นายกสมาคมปิดประกาศสำเนางบแสดงฐานะการเงินไว้ ณ ที่ทำการสมาคมก่อนหน้าการประชุมใหญ่สามัญไม่น้อยกว่า ๗ วัน

ข้อ ๓๒ การประชุมใหญ่ต้องมีสมาชิกซึ่งมีสิทธิ์ออกเสียงมาประชุมไม่น้อยกว่า ๕๐ คนจึงจะเป็นองค์ประชุม

ข้อ ๓๓ ที่ประชุมใหญ่มีอำนาจและหน้าที่ดังนี้

       ๓๓.๑ รับรองนายกสมาคมและผู้สอบบัญชี
       ๓๓.๒ พิจารณางบแสดงฐานะการเงินของสมาคม
       ๓๓.๓ พิจารณาเรื่องที่คณะกรรมการนำขึ้นปรึกษา
       ๓๓.๔ พิจารณาข้อเสนอของสมาชิกซึ่งยื่นไว้ตามข้อบังคับนี้

ข้อ ๓๔ สมาชิกสามัญมีสิทธิลงคะแนนเสียงคนละหนึ่งเสียงการออกเสียงลงคะแนนเป็นสิทธิเฉพาะตัว จะแต่งตั้งตัวแทนมิได้สมาชิกสมทบและสมาชิกกิตติมศักดิ์ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

ข้อ ๓๕ การออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ให้ใช้วิธียกมือเว้นแต่สมาชิกไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ ของสมาชิกในที่ประชุมร้องขอให้ลงคะแนนลับก็ให้จัดให้มีการลงคะแนนลับ

ข้อ ๓๖ คณะกรรมการบริหารอาจเรียกให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญสมาชิกไม่น้อยกว่า ๕๐ คนอาจร้องขอให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญให้นายกสมาคมเรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องนั้น

ข้อ ๓๗ มติที่ประชุมใหญ่ให้ถือตามเสียงข้างมากหากคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงชี้ขาด

หมวดที่ ๕ การเงินและทรัพย์สิน


ข้อ ๓๘ คณะกรรมการบริหารการเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารเงินสดของสมาคมถ้ามีให้นำฝากไว้ในธนาคารกรุงไทยสาขาสัตหีบ

ข้อ ๓๙ การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคมจะต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคมหรือผู้ทำการแทน

ลงนามร่วมกับเหรัญญิก หรือเลขาธิการ พร้อมกับประทับตราของสมาคมจึงจะถือว่าใช้ได้
ข้อ ๔๐ ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมได้ครั้งล่ะไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท( ห้าแสนบาทถ้วน)

ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการบริหารจะอนุมัติให้จ่ายเงินได้ครั้งละไม่เกิน ๑, ๐๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) ถ้าจำเป็นจะต้องจ่ายเกินกว่านี้ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ของสมาคม

หมายเหตุ การสั่งจ่ายเงินของนายกสมาคมหรืออุปนายกสมาคมในกรณีทำหน้าที่แทนแล้วจึงรายงานให้ คณะกรรมการบริหารสมาคมทราบในการประชุมคราวต่อไปไม่ควรมีจำนวนมากนักเพราะสมาคมเป็นองค์กรการกุศล ดำเนินการในรูปคณะกรรมการบริหารทำการใดๆ เป็นการทำในนามคณะกรรมการบริหารโดยนายกสมาคมเป็นผู้แทนเพียงในนาม ซึ่งจะต้องดำเนินตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารทั้งกิจการภายในสมาคมและกับบุคคลภายนอก ไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท (ห้าแสนบาทถ้วน)

ข้อ ๔๑ ให้เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดของสมาคมได้ไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท ( สองหมื่นบาทถ้วน ) ถ้าเกินจำนวนนี้ จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมทันทีที่โอกาสอำนวยให้
ข้อ ๔๒ เหรัญญิก จะต้องทำบัญชีรายรับ - รายจ่ายและบัญชีงบดุลให้ถูกต้องตามหลักวิชาการการรับหรือการจ่ายทุกครั้งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อของนายกสมาคมหรือผู้ที่ทำการแทนร่วมกับเหรัญญิก หรือผู้ทำการแทน พร้อมกับประทับตราของสมาคมทุกครั้ง

ข้อ ๔๓ ผู้สอบบัญชี จะต้องมิใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมและจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต

ข้อ ๔๔ ผู้สอบบัญชี มีอำนาจหน้าที่จะเรียกเอกสารที่เกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินจากคณะกรรมการบริหารและสามารถจะเชิญกรรมการบริหารหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมเพื่อสอบถามเกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมได้

ข้อ ๔๕ คณะกรรมการบริหารจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชีเมื่อได้รับการร้องขอ

หมวดที่ ๖ การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคม


ข้อ ๔๖ การประชุมใหญ่เพื่อแก้ข้อบังคับจะต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า ๑๐๐ คนมติให้แก้ข้อบังคับต้องมีคะแนนเสียง๒ใน๓ของจำนวนสมาชิกที่มาประชุมให้คณะกรรมการบริหารส่งร่างข้อบังคับที่แก้ไขพร้อมทั้งเหตุผลไปยังสมาชิกโดยทางไปรษณีย์ล่วงหน้าก่อนวันกำหนดวันประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่า ๑๕ วันในกรณีที่สมาชิกมาประชุมไม่ครบองค์ประชุมตามวรรคหนึ่งหากแต่ว่ามีสมาชิกใช้สิทธิลงคะแนนเสียงล่วงหน้าก่อนวันประชุมใหญ่เห็นชอบตามร่างข้อบังคับที่แก้ไขทั้งฉบับไม่น้อยกว่า ๗๐ คนให้ถือว่าร่างข้อบังคับที่แก้ไขดังกล่าวได้รับมติความเห็นชอบให้แก้ไขได้

ข้อ ๔๗ การเลิกสมาคมจะเลิกได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุของกฎหมายมติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้เลิกสมาคมจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า๓ ใน ๔ ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด และองค์ประชุมใหญ่จะต้องไม่น้อยกว่าครั้งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด

ข้อ ๔๘ เมื่อสมาคมต้องเลิกไม่ว่าเหตุใดๆก็ตามทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่หลังจากที่ได้ชำระบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้วให้ตกเป็นของ โรงเรียนสิงห์สมุทร

หมวดที่ ๗ บทเบ็ดเตล็ด


ข้อ ๔๙ การตีความข้อบังคับของสมาคม หากเป็นที่สงสัยให้ที่ประชุมใหญ่โดยเสียงข้างมากของที่ประชุมชี้ขาด

ข้อ ๕๐ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยสมาคมมาใช้บังคับ ในเมื่อข้อบังคับของสมาคมมิได้กำหนดไว้ และหากมีข้อบังคับใดขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ถือปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ข้อ ๕๑ สมาคมต้องไม่ดำเนินการหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน หรือเพื่อบุคคลใดนอกจากเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสมาคมเอง

หมวดที่ ๘ บทเฉพาะกาล


ข้อ ๕๒ ข้อบังคับฉบับนี้นั้นให้เริ่มใช้บังคับได้นับตั้งแต่วันที่สมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเป็นต้นไป

ข้อ ๕๓ เมื่อสมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจากทางราชการก็ให้ถือว่าผู้เริ่มการทั้งหมดเป็นสมาชิกสามัญและสมาชิกภาพของคณะกรรมการบริหารที่ตั้งขึ้นเริ่มตั้งแต่วันจดทะเบียนเป็นต้นไป